ค่าขาดประโยชน์พิจารณาจากจำนวนเงินและวิสัยที่จะทำมาหาได้
ค่าขาดประโยชน์พิจารณาจากจำนวนเงินและวิสัยที่จะทำมาหาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 230-231 /2538
คำพิพากษาย่อสั้น
โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาผู้ตายจะมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายหรือไม่อย่างไร เป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ร่วมไม่เกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ที่1ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายและได้ฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในมูลละเมิดไปแล้ว หากโจทก์ร่วมจะฟ้องคดีเองโจทก์ร่วมจะต้องฟ้องภายในอายุความการที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมมีผลเสมือนเป็นการฟ้องคดีเมื่อนับจากวันเกิดเหตุเป็นเวลาเกิน1ปีแล้ว คดีของโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความ เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ตายและ ว.ลูกจ้างจำเลยไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์ที่1ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ที่ 1 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดี อย่างคนอนาถาโดยฟ้องมีใจความรวมกันว่าเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 นายวัชรบูลย์ จุลวงศ์ ลูกจ้างของจำเลยได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 83-9439 กรุงเทพมหานครซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของไปในทางการที่จ้างจากกรุงเทพมหานคร ไปจังหวัดอุบลราชธานี ถึงจังหวัดอุบลราชธานี นายวัชรบูลย์ ขับรถไปตามถนนอุปราชด้วยความเร็วปราศจากความระมัดระวังเมื่อถึงทางแยก ทางร่วมไม่ยอมลดความเร็วไม่ให้อาณัติสัญญาณเป็นเหตุให้รถยนต์ที่นายวัชรบูลย์ขับอยู่เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ ที่นายบรรยง แก้วศรี บุตรโจทก์ที่ 1 ขับอยู่บนถนนอุปราชทำให้ รถจักรยานยนต์เสียหายเป็นเหตุให้ นายบรรยง ถึงแก่ความตายโจทก์ที่ 3 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถ จักรยานยนต์ของนายบรรยง ได้รับบาดเจ็บสาหัสแขนและขาหักทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายเนื่องจากระหว่างนายบรรยงบุตรโจทก์ที่ 1 ยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ที่ 1 ได้ออกทุนให้นาย บรรยง รับซื้อเป็ด ไก่ ตามชนบทแล้วนำมาขายต่อเอากำไรให้โจทก์ที่ 1 เดือนละ 1,200 บาท ขณะเกิดเหตุนายบรรยงมีอายุ 22 ปี โจทก์ที่ 1 ขอคิดค่าขาดประโยชน์เป็นเวลา 20 ปี เป็น จำนวนเงิน 280,000 บาท ตามปกตินายบรรยงมีอาชีพถีบสามล้อรับจ้างจะนำเงินให้โจทก์ที่ 1 วันละ 20 บาท รวมเดือนละ 600 บาท โจทก์ที่ 1 ขอคิดค่าขาดประโยชน์เป็นเวลา 20 ปี จำนวนเงิน 144,000 บาทเมื่อนายบรรยงถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ได้จัดการทำศพตามฐานะเป็นเงิน จำนวน 21,700 บาท และขอคิดค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์เป็นจำนวนเงิน 13,000 บาท รวมเป็นเงิน 458,700 บาท
ในส่วนที่ทำให้โจทก์ที่ 3 เสียหายจำเลยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา โดยในระหว่างโจทก์ที่ 3 ไม่บาดเจ็บได้ช่วยโจทก์ที่ 2 ขายผักในตลาดมีรายได้เดือนละ 1,200 บาทขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 3 มีอายุ 23 ปี ถ้าไม่บาดเจ็บ จะประกอบอาชีพเป็นปกติอย่างน้อย 20 ปีโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ขอคิดค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 288,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีอาชีพรับจ้างซักเสื้อผ้ามีรายได้วันละ 20 บาท หรือเดือนละ 600 บาท โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ขอคิดค่าเสียหาย 20 ปี จำนวนเงิน 144,000 บาท และโจทก์ที่ 3 ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2529 ถึง วันที่ 16 มิถุนายน 2529 เสียค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนเงิน 19,700 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นเงิน 451,700 บาท ขอให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 458,700 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงินจำนวน 451,700 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การในสำนวนแรกว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของ นายบรรยง แก้วศรี เนื่องจากนายวัชรบูลย์ จุลวงศ์ ขับรถไปตามถนนอุปราช เข้า ตัวเมืองอุบลราชธานีถึงบริเวณทางแยกตัดกับถนนพรหมราช ได้ชะลอความเร็วของรถลงเมื่อ เห็นว่าปลอดภัยจึงเคลื่อนรถต่อขณะที่รถกำลังผ่านพ้นสี่แยกนายบรรยง ได้ขับรถจักรยานยนต์ มาตามถนนพรหมราชเข้าสี่แยกที่ตัดกับถนนอุปราชทางด้านขวามือของนายวัชรบูลย์ ซึ่งนาย บรรยง เห็นแล้วว่ารถยนต์ที่นายวัชรบูลย์ขับมานั้นกำลังอยู่ในสี่แยกนายบรรยงสามารถที่จะรอ ให้รถที่นายวัชรบูลย์ ขับมาผ่านพ้นสี่แยกไปเสียก่อนจึงค่อยขับรถจักรยานยนต์เข้าไปในสี่แยก นั้น นายบรรยงสามารถทำเช่นนั้นได้ แต่หาได้ทำไม่กลับขับรถจักรยานยนต์เข้าไปในสี่แยกด้วย ความเร็วสูงจึงเข้าชนรถของจำเลยจนได้รับความเสียหายเป็นความประมาทของนายบรรยง ฝ่ายเดียว โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนอุบลราชธานี ง-8652 ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 6,000 บาท โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบรรยงไม่มีสิทธิเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนจากการขาดไร้อุปการะ และค่าใช้จ่ายในการปลงศพนายบรรยงไม่มีความผูกพัน ตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้แก่โจทก์ที่ 1 แต่ถ้าหากศาลเห็นว่าจำเลยจะต้องรับผิดก็ไม่เกิน 5 ปี เพราะโจทก์ที่ 1 มีอายุ 69 ปี แล้วโจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ถูกทำละเมิดไม่ได้รับความเสียหายเพราะโจทก์ที่ 3 ไม่ถึงแก่ความตาย และพ้นจากการเป็นผู้เยาว์แล้ว เมื่อโจทก์ที่ 3 รับ การรักษาพยาบาลแล้วก็หายเป็นปกติสามารถทำการงานได้เหมือนเดิมอย่างไรก็ตาม โจทก์ที่ 3 ก็มิได้ประกอบอาชีพอะไร ข้ออ้างที่ว่าประกอบอาชีพค้าขาย และรับจ้างซักเสื้อผ้านั้นเป็นการนำมาอ้างเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเท่านั้นขอให้ยกฟ้อง
นางปุน แก้วศรี มารดาของนายบรรยง แก้วศรี ผู้ตาย ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีแรก ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยยื่นคำให้การว่า ฟ้องของโจทก์ร่วมเคลือบคลุมและขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ร่วมจำนวน 117,000 บาท ชำระแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 5,726 บาทชำระแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 30,500 บาท พร้อมด้วย ดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อ ปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระ เสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกนั้นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะ ฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ประเด็นข้อที่สองมีว่าคดีของโจทก์ร่วมขาดอายุความและเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ร่วมเป็นมารดาของนายบรรยง แก้วศรี ผู้ตาย โจทก์ร่วมจะมีสิทธิได้รับ ค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายหรือไม่ อย่างไร เป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ร่วมและไม่เกี่ยวกับ สิทธิของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายและได้ฟ้องคดีไปแล้ว ดังนั้นหากโจทก์ร่วมจะฟ้องคดี เองโจทก์ร่วมจะต้องฟ้องภายในอายุความการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมมีผลเสมือนเป็นการฟ้องคดี เพราะเป็นการขอบังคับให้เป็นไปตามสิทธิที่โจทก์ร่วมมีอยู่คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม2530 นับจากวันเกิดเหตุเป็นเวลาเกิน 1 ปีแล้ว เมื่อการขอเข้าเป็น โจทก์ร่วมมีผลเสมือนเป็นการฟ้องคดีคดีของ โจทก์ร่วมจึงขาดอายุความเมื่อคดีของโจทก์ร่วมขาดอายุความแล้วเช่นนี้ประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ประเด็นข้อที่สาม มีว่าเหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายวัชรบูลย์ ลูกจ้าง ของจำเลยด้วยหรือไม่ประเด็นข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนกับรถยนต์ของจำเลย ที่นายวัชรบูลย์ ขับตรงทางแยกปัญหาคงมีแต่เพียงว่านายวัชรบูลย์ ขับรถด้วยความประมาท เลินเล่อด้วยหรือไม่เห็นว่าหลังจากรถชนกันแล้วรถจักรยานยนต์ของผู้ตายกระเด็นไปอยู่ห่าง จากจุดชน 13 เมตรแสดงว่ารถชนกันอย่างแรงเนื่องจากนายวัชรบูลย์ ขับรถมาด้วยความเร็วสูง บริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางแยกที่ตั้งอยู่ในเมืองซึ่งคนขับรถทุกคนควรชะลอความเร็วรถลงและขับ ผ่านด้วยความระมัดระวัง ตามแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย ปล. 2แผ่น ที่ 8 ไม่ปรากฏว่ามีรอย ห้ามล้อของรถที่นายวัชรบูลย์ขับ แสดงว่านายวัชรบูลย์ มิได้ใช้ความระมัดระวังขณะขับรถผ่าน ทางแยกประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนถึงแม้จะมีแสงไฟแต่การมองเห็นก็มีขอบเขต จำกัดกว่ากลางวัน นายวัชรบูลย์ จึงต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นอีกเมื่อนายวัชรบูลย์ มิได้ใช้ ความระมัดระวังเช่นว่านี้เหตุที่รถชนกันจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อ ของนายวัชรบูลย์ด้วย เช่นกัน ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหาย เพียงใด เห็นว่า ตามแผนที่เกิดเหตุ เอกสารหมายปล. 2 แผ่น ที่ 8 จุดชนอยู่เลยกึ่งกลางสี่แยกไปทางทิศเหนือ ตามเส้นทางที่นายวัชรบูลย์ ขับรถมุ่งหน้าไปเล็กน้อย รถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ได้รับความเสียหายตรงส่วนหน้าพังแตกและยุบ ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล. 1 ภาพที่ 1 ส่วนรถของ จำเลยถูกชนตรงถังน้ำมันซึ่งอยู่หน้าล้อหลัง ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล. 2 จากแผนที่เกิดเหตุและภาพถ่ายรถทั้งสองคันดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วไปชนกับรถยนต์ที่นายวัชรบูลย์ขับตรงบริเวณถังน้ำมันในขณะที่นายวัชรบูลย์ ขับรถผ่านทางแยกด้วยความเร็วและไม่ใช้ความระมัดระวัง ดังนั้นเหตุที่รถชนกันจึงเกิดจากความประมาท เลินเล่อของผู้ตายและของนายวัชรบูลย์ ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเมื่อเป็นเช่นนี้ โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็น บิดาของผู้ตายย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษา ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นั้นเห็นว่า โจทก์ที่ 2 เป็นมารดาของโจทก์ที่ 3 ฟ้องเรียกค่าขาด แรงงานในระหว่างที่โจทก์ที่ 3 เจ็บป่วย ต้องพักรักษาตัว ส่วนโจทก์ที่ 3 เป็นผู้ถูกทำละเมิดโดยตรงและได้รับความเสียหายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ปัญหาต่อไปมีว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จะเรียกค่าเสียหายได้เพียงใด โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์ที่ 3 ช่วยโจทก์ที่ 2 ประกอบการงานหารายได้เลี้ยงชีพ คือโจทก์ ที่ 3 ช่วย เก็บผักแล้วนำมาขายที่ตลาดกับโจทก์ที่ 2 ทำให้มีรายได้ประมาณวันละ 40 บาท นอกจากนี้ โจทก์ที่ 3 ยังรับจ้างซักเสื้อผ้ามีรายได้ประมาณวันละ 20 บาท โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีนางเจียง โกติรัมย์ และนายสมเดช สุวรรณกูฎ เป็นพยานสนับสนุนว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ประกอบการงานที่ กล่าวแล้วด้วยกัน และมีรายได้ดังที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เบิกความเห็นว่ารายได้ดังกล่าว มี จำนวนไม่มากนักอยู่ในวิสัยที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จะหาได้จึงเชื่อว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีรายได้ ตามจำนวนที่กล่าวแล้วจริง แต่เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์รวมกันมากับ โจทก์ที่ 3 วันละ40 บาท มิได้แยกว่าโจทก์ที่ 2 เสียหายวันละเท่าใดจึงเห็นควรกำหนดเป็น ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 กึ่งหนึ่งคือวันละ 20 บาท หรือเดือนละ600 บาท ผลของการทำละเมิด ของลูกจ้างของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 3 ต้องพักรักษาตัวเป็นเวลา 9 เดือน 16 วัน ดังที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วในระหว่างเวลาดังกล่าวจึงทำให้โจทก์ที่ 2 ขาดรายได้ที่เคยมีอยู่จำเลย ซึ่งเป็นนายจ้างของนายวัชรบูลย์ จึงต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ที่ 2 คิดเป็นจำนวนเงิน 5,720 บาท
ส่วนค่าเสียหายของโจทก์ที่ 3 นั้นมีค่าขาดประโยชน์จากการเก็บผักมาขายในตลาดวันละ 20 บาท กับค่าขาดรายได้จากการรับจ้างซักเสื้อผ้าอีกวันละ 20 บาทรวมเป็นเงินวันละ 40 บาท หรือเดือนละ 1,200 บาท ตลอดเวลาที่โจทก์ที่ 3 ต้องพักรักษาตัวเป็นเวลา 9 เดือน 16 วัน คิด เป็นค่าเสียหาย 11,440 บาท
สำหรับค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 3 นั้น โจทก์ที่ 2 มารดาของโจทก์ที่ 3 เบิกความว่าต้องเสียค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 24,501 บาท ตามบัญชีรายจ่ายสิ่งของหรือเวชภัณฑ์ ของโรงพยาบาลตามเอกสารหมาย จ. 1 ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลคิดค่ารักษาพยาบาล โจทก์ ที่ 3ไว้เป็นเงิน 24,501 บาท จึงเชื่อว่าค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 3 มีจำนวน 24,501 บาทจริง อย่างไรก็ตามค่ารักษาพยาบาลโจทก์ ที่ 3 นี้ทางโจทก์ที่ 3 เรียกมา 19,700 บาท ศาลจึงกำหนด ให้เท่าที่ขอมาคือจำนวน 19,700 บาท รวมค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 3 ได้รับทั้งสองรายการดัง วินิจฉัยข้างต้นเป็นเงิน 31,140 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ที่ 3 สรุปแล้วฎีกา ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 และโจทก์ร่วมค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 และ โจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสามศาลให้เป็นพับให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 5,720 บาทและชำระให้แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 31,140 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448
ผู้พิพากษา :
พิมล สมานิตย์
สกล เหมือนพะวงศ์
ถวิล ตรีเพชร
แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ