แชร์

แม้ตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ตาย หากจำเลยประมาทก็ไม่พ้นความรับผิด

อัพเดทล่าสุด: 6 มิ.ย. 2024
480 ผู้เข้าชม
แม้ตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ตาย หากจำเลยประมาทก็ไม่พ้นความรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803/2550 

คำพิพากษาย่อสั้น
     จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายเต็มคันรถในเขตชุมชนใกล้ทางแยกเข้าหมู่บ้านกฤษดานคร ตามหลังรถยนต์กระบะไปตามถนน ควรใช้ความเร็วต่ำและเว้นระยะให้ห่างมากพอที่จะหยุดรถได้ทันโดยไม่ให้ชนรถคันหน้ายิ่งมีฝนตกและเป็นเวลากลางคืน ควรต้องระมัดระวังเว้นระยะให้ห่างมากขึ้น การที่จำเลยที่ 1 ต้องหักหลบไปทางขวาเมื่อรถยนต์กระบะต้องหยุดรถเพราะมีรถยนต์ออกจากปั๊มน้ำมัน ก็เกิดจากจำเลยที่ 1 เกรงว่าจะหยุดไม่ทันเนื่องจากบรรทุกของหนักเป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับจะต้องใช้ความเร็วสูงทั้งไม่เว้นระยะให้ห่างรถยนต์กระบะซึ่งขับอยู่ข้างหน้าให้อยู่ในระยะที่สามารถหยุดรถได้ทันโดยไม่ต้องหักหลบเช่นนั้น รถของจำเลยที่ 1 จึงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่ผู้ตายขับรถยนต์สวนมาและเกิดเหตุชนกับรถที่ผู้ตายขับในช่องเดินรถของผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นผลโดยตรงจากการขับรถโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 และ ป.อ. มาตรา 291 แม้จะมีรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 2 ขับตามหลังมาไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ก็หามีผลให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดและการขับรถยนต์ประมาทของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่ผู้ตาย ส่วนกรณีที่ตรวจพบแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดระดับนี้มีผลต่อร่างกาย ทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้นั้น ก็ถือว่าผู้ตายมิได้มีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุชนกันขึ้น ไม่อาจทำให้ผู้ตายหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุชนกันได้ จึงไม่อาจทำให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดไปได้ และกรณีไม่อาจรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 56 ได้ 

คำพิพากษาย่อยาว
     โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาพันตำรวจโทสมชาย พงษ์ธานี บิดาของนายอมรชัย พงษ์ธานี ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), (8), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคหนึ่งและวรรคสาม เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฐานขับรถโดยประมาทเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย จำคุก 2 เดือน ฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแล้วไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุ จำคุก 2 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), (8), 157, 160 วรรคสาม เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายกับฐานขับรถโดยประมาทเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาท ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย จำคุก 2 เดือน คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย คงจำคุก 4 ปี ฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย คงจำคุก 1 เดือน 10 วัน ฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย แล้วไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุ คงจำคุก 1 เดือน 10 วัน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 2 เดือน 20 วัน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย คงจำคุก 4 ปี ฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย คงจำคุก 1 เดือน 10 วัน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 1 เดือน 10 วัน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ตาย (เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง) คงลงโทษจำเลยที่ 1 ให้จำคุก 4 ปี 1 เดือน 10 วัน จำเลยที่ 2 ให้จำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 81-1956 พระนครศรีอยุธยา บรรทุกทรายไปตามถนนสายบางกรวย-ไทยน้อย จากสี่แยกบางพลูมุ่งหน้าไปตลาดบางบัวทอง โดยมีจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 81-6372 นครปฐม บรรทุกทรายแล่นตามรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ เมื่อไปถึงซอยแยกเข้าหมู่บ้านกฤษดานคร ก่อนถึงทางแยกปั๊มน้ำมันบางจาก ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ขณะนั้นผู้ตายขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ข-1818 กรุงเทพมหานคร สวนทางมาจากตลาดบางบัวทองมุ่งหน้าไปสี่แยกบางพลู ได้เกิดเหตุชนกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันที่จำเลยที่ 1 ขับ และปรากฏว่ารถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับตามรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับ ได้ชนท้ายรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับด้วย เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกสิบล้อทั้งสองคันและรถยนต์ที่ผู้ตายขับได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จากการตรวจหาแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ตายตรวจพบแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ ตามรายงานการตรวจศพของสถาบันนิติเวชวิทยา หลังเกิดเหตุร้อยตำรวจเอกพันธมิตร จ้างประเสริฐ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทองเดินทางไปตรวจที่เกิดเหตุ ได้จัดทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุไว้และบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีจราจร ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1 เข้ามอบตัว ร้อยตำรวจเอกพันธมิตรแจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 ว่าขับขี่รถยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนรถผู้อื่นเสียหายและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แล้วหลบหนีไม่แจ้งเหตุแก่เจ้าพนักงาน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ สำหรับความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือและแสดงตัวแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานขับรถโดยประมาทและฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ โจทก์มีพยานคือสิบตำรวจโทกิตติพัฒน์ เชือดเกียรติ เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปถึงที่เกิดเหตุเป็นคนแรกเห็นคนขับรถยนต์บรรทุกคันหลังคือจำเลยที่ 2 ยังคงอยู่ในรถเนื่องจากขายังติดอยู่ จึงได้วิทยุแจ้งศูนย์วิทยุและเรียกรถยนต์รับจ้างนำคนขับรถยนต์เก๋งไปส่งโรงพยาบาล กับช่วยอำนวยการจราจร จนร้อยตำรวจเอกพันธมิตร จ้างประเสริฐ พนักงานสอบสวนกับดาบตำรวจชาติชาย เสียงสมใจ มาถึงที่เกิดเหตุ ขณะที่รถยนต์ที่เกิดเหตุทั้งสามคันยังอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่หลังจากเกิดเหตุชนกัน พยานโจทก์ทั้งสามปากต่างเบิกความยืนยันว่าสภาพของรถยนต์ที่เกิดเหตุเป็นไปตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ พยานโจทก์ทั้งสามต่างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 1 และผู้ตายมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสังสัยว่าจะเบิกความใส่ร้ายให้จำเลยที่ 1 ต้องได้รับโทษ จำเลยที่ 1 เองก็เบิกความรับว่าแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุที่ร้อยตำรวจเอกพันธมิตรพนักงานสอบสวนทำขึ้นถูกต้อง จำเลยที่ 1 ยังลงชื่อไว้ในแผนที่ดังกล่าว จึงเชื่อว่าร้อยตำรวจเอกพันธมิตรทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุถูกต้องตามความจริง ตามแผนที่ดังกล่าวรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับไปทางทิศเหนือ แต่ล้ำเข้าไปในช่องเดินรถสวน โดยล้อหน้าด้านซ้ายห่างจากเส้นกึ่งกลางถนน 0.5 เมตร แต่ล้อหลังด้านซ้ายอยู่ห่างเส้นกึ่งกลางถนนไปทางทิศตะวันตก 1.50 เมตร ส่วนรถยนต์ที่ผู้ตายขับไปทางทิศใต้คงอยู่ในช่องเดินรถของผู้ตายตัวรถขนานกับเส้นกึ่งกลางถนน ล้อหน้าด้านขวาห่างจากเส้นกึ่งกลางถนนไปทางทิศตะวันออก 0.5 เมตร ส่วนรถที่จำเลยที่ 2 ขับมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือคงอยู่ในช่องเดินรถที่ขับมา ล้อหน้าห่างจากเส้นกลางถนน 1 เมตร ล้อหลังห่าง 0.5 เมตร ร้อยตำรวจเอกพันธมิตรทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีจราจร ไม่พบรอยห้ามล้อหรือรอยยาง พบเศษกระจกตกอยู่ในเส้นทางเดินรถทะเบียน 3 ข-1818 กรุงเทพมหานคร ห่างจากจุดกึ่งกลางถนนประมาณ 0.5 เมตร ร้อยตำรวจเอกพันธมิตรสันนิษฐานว่า ผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 81-1956 พระนครศรีอยุธยาได้หยุดรถ ทำให้รถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 81-6372 นครปฐม ซึ่งขับตามหลังมาไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ได้ชนท้ายรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหน้า และด้านหน้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหน้าได้เกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ข-1818 กรุงเทพมหานคร ซึ่งขับสวนทางมา ซึ่งความเห็นของพนักงานสอบสวนนี้สอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ให้การไว้ขณะเข้ามอบตัวกับร้อยตำรวจเอกพันธมิตรในวันที่ 1 กันยายน 2541 ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา และยังสอดคล้องกับบันทึกการขอคืนรถยนต์ของกลาง ที่นายนพดล ชิราพร นายจ้างของจำเลยที่ 1 มีถึงพนักงานสอบสวนว่าได้นำตัวจำเลยที่ 1 มามอบให้พนักงานสอบสวนซึ่งในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถยนต์ผู้อื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตายหลบหนีไม่แจ้งเหตุให้เจ้าพนักงานทราบ นายนพดลเบิกความเป็นพยานโจทก์รับว่าเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 แสดงว่าการรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 อยู่ในความรู้เห็นของนายนพดลผู้เป็นนายจ้าง จำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่าเหตุเกิดจากถนนบริเวณที่เกิดเหตุแบ่งเป็น 2 ช่องจราจรแล่นสวนกัน ขณะนั้นมีฝนตก มีรถยนต์ 1 คันขับออกมาจากปั๊มน้ำมันบางจากเลี้ยวซ้ายขึ้นถนนทำให้รถยนต์กระบะที่อยู่ข้างหน้ารถของจำเลยที่ 1 หยุด จำเลยที่ 1 จึงต้องหยุดรถ แต่กลัวว่ารถจะไม่สามารถหยุดได้เนื่องจากบรรทุกของหนักคือทรายเต็มคันรถ จำเลยที่ 1 จึงได้หักพวงมาลัยไปทางด้านขวามือ รถยนต์เก๋งที่แล่นสวนทางมาจึงพุ่งเข้าชน จากนั้นรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 2 ขับตามมาก็ชนท้ายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายเต็มคันรถในเขตชุมชนใกล้ทางแยกเข้าหมู่บ้านกฤษดานคร โครงการ 11 ตามหลังรถยนต์กระบะไปตามถนนที่แบ่งเป็น 2 ช่องจราจรแล่นสวนกัน จำเลยที่ 1 ควรใช้ความเร็วต่ำและเว้นระยะให้ห่างมากพอที่จะหยุดรถได้ทันโดยไม่ให้ชนรถคันหน้ายิ่งมีฝนตกและเป็นเวลากลางคืน จำเลยที่ 1 ควรต้องระมัดระวังเว้นระยะให้ห่างมากขึ้น การที่จำเลยที่ 1 ต้องหักหลบไปทางขวา เมื่อรถยนต์กระบะต้องหยุดรถเพราะมีรถยนต์ออกจากปั๊มน้ำมันบางจาก ก็เกิดจากจำเลยที่ 1 เกรงว่าจะหยุดไม่ทันเนื่องจากรถที่จำเลยที่ 1 ขับบรรทุกของหนัก การหักหลบไปทางขวาเป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับจะต้องใช้ความเร็วสูงมิใช่ขับมาด้วยความเร็วประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอย่างที่กล่าวอ้าง ทั้งไม่เว้นระยะให้ห่างรถยนต์กระบะซึ่งขับอยู่ข้างหน้าให้อยู่ในระยะที่สามารถหยุดรถได้ทันโดยไม่ต้องหักหลบเช่นนั้น ที่จำเลยที่ 1 นำสืบและฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 หักพวงมาลัยไปทางขวา รถยนต์ที่ผู้ตายขับสวนทางก็พุ่งเข้าชนทางด้านหน้าของรถจำเลยที่ 1 จากนั้นรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 2 ขับตามมาก็เข้าชนท้ายรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ ทำให้รถของจำเลยที่ 1 ลื่นไถลไปอยู่ในฝั่งของช่องเดินรถที่สวนมาโดยล้ำเส้นแบ่งกลางถนนประมาณ 50 เซนติเมตรนั้น ขัดต่อเหตุผลเพราะเมื่อเกิดเหตุแล้วรถยนต์ที่ผู้ตายขับคงอยู่ในช่องเดินรถของตนในลักษณะขนานกับเส้นแบ่งกลางถนน กับพบเศษกระจกตกอยู่ในเส้นทางเดินรถของรถผู้ตายห่างจากกึ่งกลางถนน 0.5 เมตร หากรถยนต์ที่ผู้ตายขับเข้าไปชนรถที่จำเลยที่ 1 ขับในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 สภาพของรถยนต์ที่ผู้ตายขับหลังเกิดเหตุและเศษกระจกจะไม่อยู่ในลักษณะดังกล่าว พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักพอฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายเต็มคันรถไปตามถนนที่เกิดเหตุด้วยความเร็วสูงในเวลาค่ำคืนและมีฝนตกในเขตชุมชนโดยไม่เว้นระยะให้ห่างจากรถยนต์กระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับตามหลังมาให้มากพอที่จะหยุดรถได้ทัน เมื่อรถยนต์กระบะต้องหยุดกะทันหันเพราะมีรถยนต์ขับออกจากปั๊มน้ำมันบางจากรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับบรรทุกทรายเต็มคันรถไม่อาจหยุดรถได้ทันที รถของจำเลยที่ 1 จึงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่ผู้ตายขับรถยนต์สวนมาและเกิดเหตุชนกับรถที่ผู้ตายขับในช่องเดินรถของผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการขับรถโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 แม้จะมีรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 2 ขับตามหลังมาไม่สามารถหยุดรถได้ทัน เมื่อจำเลยที่ 1 หยุดรถกะทันหันได้ชนท้ายรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับ ก็หามีผลทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิด และการขับรถยนต์ประมาทของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่ผู้ตาย ส่วนกรณีที่พลตำรวจตรีวิชิต สมาธิวัฒน์ แพทย์ผู้ตรวจพิสูจน์ศพผู้ตาย เบิกความว่า ตรวจพบแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ ตามรายงานการตรวจศพ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดระดับนี้มีผลต่อร่างกายทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ได้วินิจฉัยมาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหักหลบรถยนต์กระบะที่ต้องหยุดรถกะทันหันเป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถที่ผู้ตายขับสวนมาจึงเกิดชนกันในช่องเดินรถที่ผู้ตายขับมา จึงเห็นได้ว่าผู้ตายมิได้มีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุชนกันขึ้น ไม่ว่าจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดตามปริมาณที่ตรวจพบหรือไม่ ก็ไม่อาจทำให้ผู้ตายหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุชนกันได้ จึงไม่อาจทำให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดไปได้ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในทำนองขอให้พิจารณาถึงเหตุบรรเทาโทษ เพื่อลงโทษให้เหมาะสมและขอให้รอการลงโทษด้วยนั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองได้พิจารณาถึงเหตุบรรเทาโทษและลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามแล้ว โทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยที่ 1 เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว และกรณีไม่อาจรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้ ฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นสาระที่จะทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 63
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 

ผู้พิพากษา
วีระชาติ เอี่ยมประไพ
เรวัตร อิศราภรณ์
ประทีป เฉลิมภัทรกุล 

แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ