ทั้งทางเอกและทางโท ก็ต้องลดความเร็วของรถ
ทั้งทางเอกและทางโท ก็ต้องลดความเร็วของรถ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2680/2531
คำพิพากษาย่อสั้น
การขับรถผ่านทางร่วมทางแยกนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ขับขี่รถทุกเส้นทางที่มาบรรจบทางร่วมทางแยกจะต้องลดความเร็วลงให้อยู่ในอัตราความเร็วต่ำเพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายอันอาจเกิดจากการชนกันระหว่างรถที่กำลังแล่นผ่าน หาใช่ว่าผู้ที่ขับมาในทางเอกจะใช้ความเร็วในอัตราสูง โดยขับผ่านทางร่วมทางแยกไปโดยปราศจากความรั้งรอ ไม่ว่าจะมีรถในทางเดินรถทางโทแล่นมาถึงพร้อมกันหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ขับรถแล่นเข้าไปในทางร่วมที่เกิดเหตุด้วยความเร็วสูง ทั้งที่ควรลดความเร็วลงเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุขึ้น ทำให้ชนกับรถคันที่จำเลยที่ 2 ขับมา เป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บ ย่อมถือได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นผลจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ด้วย
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อจากกรุงเทพมหานครมุ่งไปจังหวัดอุดรธานี จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อบรรทุกผู้โดยสารจากกิ่งอำเภอเบือยน้อยมุ่งไปจังหวัดชัยภูมิ จำเลยทั้งสองขับรถมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นสี่แยกถนนมิตรภาพตัดกับถนนแจ้งสนิท ตำบลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่จังหวัดขอนแก่น จำเลยทั้งสองขับรถด้วยความประมาท โดยจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ชะลอรถให้ช้าลง เมื่อถึงสี่แยกเกิดเหตุกลับขับรถผ่านสี่แยกด้วยความเร็วสูง จำเลยที่ 2 ไม่หยุดรถตามป้ายสัญญาณจราจร 'หยุด' เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่ 1 พุ่งเข้าชนข้างซ้ายของจำเลยที่ 2 เต็มแรงรถของจำเลยที่ 2 ปัดไปทับรถจักรยานยนต์ซึ่งมีนายคำตา แพงไธสง ขับขี่และนางสงวน แพงไธสง นั่งซ้อนท้ายรอที่ที่สี่แยกเกิดเหตุผลการชนเป็นเหตุให้นายสาย จันทร์รอด ซึ่งนั่งมาในรถจำเลยที่ 2 ตกจากรถและถูกล้อรถจำเลยที่ 2 ทับศรีษะถึงแก่ความตายทันที มีผู้ได้รับอันตรายสาหัส 4 คนและได้รับอันตรายแก่กาย 5 คน เกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 หลบหนีไม่ได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและไม่นำความแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานที่อยู่ใกล้เคียงทันที ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 300, 390, 91 พระราชบัญญัติจารจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 43, 78, 152, 157, 160
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 300, 390, พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 21, 43, 152, 157 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกคนละ 3 ปีและจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคสอง ให้จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก จำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 3 เดือน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คงมีปัญหาในชั้นนี้ตามที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาว่า เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหตุได้เกิดในบริเวณสี่แยกอันเป็นทางตัดกันระหว่างถนนมิตรภาพและถนนแจ้งสนิทในท้องที่ตำบลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เมื่อเวลาประมาณ 6 นาฬิกาของวันที่ 2 เมษายน 2528 จุดที่ชนกันระหว่างรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันอยู่ในช่องเดินรถร่วมกัน เมื่อจะผ่านสี่แยกที่เกิดเหตุ โดยรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับล้ำแนวเขตในช่องเดินรถของตนเข้าสู่ทางร่วมซึ่งอยู่ในบริเวณสี่แยก ขณะที่ส่วนหัวรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับแล่นชนส่วนข้างด้านซ้ายค่อมมาทางท้ายตรงระดับล้อหลังของรถคันที่จำเลยที่ 2 ขับ ซึ่งได้แล่นผ่านช่องเดินรถร่วมกันของเส้นทางรถที่ตัดผ่านทางด้านขวามาแล้วและกำลังผ่านช่องเดินรถร่วมที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเส้นทางรถคันของจำเลยที่ 1 จากแรงชนของหัวรถคันของจำเลยที่ 1 เป็นผลให้รถคันของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นรถยนต์บรรทุกหกล้อถึงกับหมุนปัดไปทางขวาโดยหัวรถหันกลับจากเส้นทางรถที่ขับมาห่างจากจุดชนประมาณ 12 เมตร อันเป็นผลให้นายสาย จันทร์รอด ซึ่งนั่งมาในรถพลัดตกลงไปและถูกล้อหลังทับศรีษะถึงแก่ความตาย ตามหลักฐานแผนที่แสดงบริเวณที่เกิดเหตุพร้อมด้วยบันทึกการตรวจของเจ้าพนักงานและภาพถ่ายประกอบบันทึกการตรวจหมาย จ.3 ถึง จ.5 เป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นผลจากการแล่นเข้าชนของรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับมาด้วยความเร็วสูงและหักล้างข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าขับรถมาในอัตราความเร็วต่ำ ก่อนเกิดเหตุจริงอยู่แม้ถนนเส้นทางรถคันของจำเลยที่ 1 จะเป็นทางเอกและเส้นทางรถด้านที่ตัดผ่านเป็นทางโทโดยมีป้ายสัญญาณจราจรหยุดปักไว้ก็ตาม แต่การขับรถผ่านทางร่วมทางแยกนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ขับขี่รถทุกเส้นทางที่มาบรรจบทางร่วมทางแยกที่จะต้องลดความเร็วลงให้อยู่ในอัตราความเร็วต่ำเพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายอันอาจเกิดจากการชนกันระหว่างรถที่กำลังแล่นผ่าน หาใช่ว่าผู้ที่ขับมาในทางเอกจะใช้ความเร็วในอัตราสูงโดยขับผ่านทางร่วมทางแยกไปโดยปราศจากความรั้งรอ ไม่ว่าจะมีรถในทางเดินรถทางโทแล่นมาถึงพร้อมกันหรือไม่ ซึ่งน่าจะมิใช่เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71 ดังที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัย สำหรับกรณีเหตุที่เกิดขึ้นนี้ก็ปรากฏว่ารถคันที่จำเลยที่ 2 ขับมา ได้แล่นล้ำจากช่องเดินรถเข้ามาในทางร่วมโดยผ่านช่องเดินรถที่ตัดผ่านทางด้านขวามาแล้วและกำลังเข้าสู่ช่องเดินรถร่วมทางด้านซ้ายซึ่งเป็นช่องเดินรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับมาขณะนั้น ตามแผนที่เกิดเหตุซึ่งแสดงจุดที่ชนเมื่อวัดระยะที่จำเลยที่ 1 เพิ่งแล่นเข้าสู่ช่องเดินรถร่วมที่เกิดเหตุได้เพียงระยะ 5 เมตร แต่รถคันที่ถูกชนได้แล่นล้ำเข้ามาในเขตทางร่วมเป็นระยะ 9 เมตร และกำลังจะเลยผ่านช่องเดินรถร่วมที่เกิดเหตุขณะถูกชนที่กระบะข้างซ้ายค่อนมาทางท้ายรถเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่ารถคันที่จำเลยที่ 2 ขับมาได้แล่นเข้ามาในเขตทางร่วมทางแยกแล้ว ข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่ามองไม่เห็นรถทางด้านขวามือจึงไม่มีเหตุผลรับฟังแต่อย่างใดและจากการตรวจสอบร่องรอยบริเวณที่เกิดเหตุของพนักงานสอบสวนซึ่งไม่พบรอยห้ามล้อปรากฏอยู่ รวมทั้งจุดที่รถคันที่จำเลยที่ 1 ขับยังคงแล่นไปจอดจากจุดที่ชนอีกถึง 34 เมตร ตามที่ปรากฎในแผนที่เกิดเหตุ เป็นข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่าภัยพิบัติบนท้องถนนในครั้งนี้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ด้วย เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ขับรถแล่นเข้าไปในทางร่วมที่เกิดเหตุด้วยความเร็วสูง ทั้งที่ควรลดความเร็วลงเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุขึ้น คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่เห็นว่าเหตุมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีสำหรับจำเลย ที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 390
ผู้พิพากษา :
ถาวร ตันตราภรณ์
ชูเชิด รักตะบุตร์
สง่า ศิลปประสิทธิ์