บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถที่มีผู้โดยสารบาดเจ็บต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น
บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถที่มีผู้โดยสารบาดเจ็บต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5127/2546
คำพิพากษาย่อสั้น
การที่ผู้โดยสารในรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองประสบภัยได้รับบาดเจ็บต่อร่างกายก็เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อด้วยความประมาทเลินเล่ออันเป็นการทำละเมิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 3 มิได้เป็นเจ้าของรถที่กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและไม่ใช่ผู้ขับขี่รถอันจะต้องถูกไล่เบี้ยตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้โดยสารในรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองไปแล้ว โจทก์ทั้งสองก็ชอบที่จะไปเรียกร้องเอาแก่บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองไว้ ซึ่งมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้ประสบภัยและไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้ประสบภัยหรือใช้สิทธิไล่เบี้ยเรียกร้องเอาค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์ทั้งสองจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประสบภัยจากจำเลยที่ 3 ได้
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 2,181,872.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,973,835 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,009,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 88,435 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 พฤศจิกายน 2537) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 คดีระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ทั้งสองจ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้โดยสารของโจทก์ทั้งสองไปแล้วได้หรือไม่
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่รถตั้งแต่สองคันขึ้นไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถ ให้บริษัทที่รับประกันภัยรถแต่ละคันจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถคันที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัท เห็นได้ว่า กรณีนี้บริษัท ว. เป็นผู้รับประกันภัยรถของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้โดยสารผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว คือบริษัท ว. หาใช่จำเลยที่ 3 หรือโจทก์ทั้งสองไม่ ทั้งตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังบัญญัติว่า ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอกหรือเกิดขึ้นเพราะความจงใจหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถ ผู้ซึ่งอยู่ในรถหรือผู้ประสบภัย เมื่อบริษัทหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ให้บริษัทหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย แล้วแต่กรณีมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลดังกล่าว หรือมีสิทธิเรียกให้ผู้ประสบภัยคืนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นได้ กรณีนี้ การที่ผู้โดยสารในรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองซึ่งประสบภัยได้รับความเสียหายจนได้รับบาดเจ็บต่อร่างกายก็เพราะเหตุการขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเลินเล่ออันเป็นการทำละเมิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 3 มิได้เป็นเจ้าของรถที่กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและไม่ใช่ผู้ขับขี่รถ อันจะต้องถูกไล่เบี้ยตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ดังนี้ เมื่อโจทก์ทั้งสองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้โดยสารในรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองไปแล้ว โจทก์ทั้งสองก็ชอบที่จะไปเรียกร้องเอาแก่บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองไว้ซึ่งมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยซึ่งอยู่ในรถยนต์โดยสารของโจทก์ทั้งสองตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้ประสบภัยและไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้ประสบภัยหรือใช้สิทธิไล่เบี้ยเรียกร้องเอาค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์ทั้งสองจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประสบภัยจากจำเลยที่ 3 ได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองในปัญหาข้ออื่นอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 24
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31
ผู้พิพากษา :
วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์
วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
วิบูลย์ มีอาสา
แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา