การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะควรกำหนดให้ชำระคราวเดียว
การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะควรกำหนดให้ชำระคราวเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2195/2527
คำพิพากษาย่อสั้น
บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ อ. วันเกิดเหตุ อ. โดยสารเครื่องบินของจำเลยที่ 1 มา และนักบินซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างโดยประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังบินต่ำเกินไปก่อนถึงสนามเป็นเหตุให้เครื่องบินชนโรงงานและ อ. เสียชีวิตเป็นเหตุให้โจทก์ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมาย ดังนี้ฟ้องไม่เคลือบคลุม
รายได้ปกติของสามีโจทก์ประมาณเดือนละ 45,000 บาท มีบุตรเกิดจากภรรยาเดิมที่จะต้องรับอุปการะเลี้ยงดู 1 คน และอาจมีบิดามารดาที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูอยู่อีกโจทก์เองไม่มีบุตรกับสามี ศาลกำหนดค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 15,000 บาท แต่ให้ได้รับคราวเดียวเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งโจทก์อาจนำเงินนี้ไปแสวงหาผลประโยชน์ที่มั่นคงเช่นฝากธนาคาร ก็จะได้ดอกเบี้ยตลอดไปไม่น้อยกว่ารายได้แต่ละเดือนที่โจทก์ควรจะได้จากสามี
คำพิพากษาย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ขาดค่าอุปการะเลี้ยงดู เดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ค่าเสียหายในเรื่องอื่น ๆ ให้ยกศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ขาดค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 20,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 2,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "เห็นควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ก่อนว่า ฟ้องของโจทก์บรรยายให้ทราบแล้วหรือไม่ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะเหตุใด เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ในเรื่องนี้บรรยายโดยชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอับราฮัมซี. เมเยอร์ วันเกิดเหตุสามีโจทก์โดยสารเครื่องบินของจำเลยที่ 1 มา และนักบินซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างโดยประมาทเลินเล่อ ปราศจากความระมัดระวัง บินต่ำเกินไปก่อนถึงสนามบินเป็นเหตุให้เครื่องบินชนโรงงานปั่นด้ายของบริษัทอุตสาหกรรมทอผ้าไทย จำกัด และสามีโจทก์เสียชีวิต เป็นเหตุให้โจทก์ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมายซึ่งเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยในเรื่องนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า นักบินลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มิได้ประมาทเลินเล่อ หากเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามฟ้องข้อ 2 ของโจทก์ โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้ขนส่งทางอากาศ ซึ่งใช้ยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล ส่วนจำเลยอื่น ๆ ที่โจทก์ฟ้องรวมเข้ามาแต่แรกนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศภาคพื้นดิน ศาลจึงกำหนดประเด็นข้อนำสืบว่า นักบินของจำเลยที่ 1 และพนักงานของจำเลยที่ 2, 3, 5 กระทำการโดยประมาทหรือไม่ และครั้งแรกศาลชั้นต้นถือว่าโจทก์ได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมาย จึงให้จำเลยนำสืบก่อนว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายเอง แต่เนื่องจากคดีนี้ต่อมาได้รวมการพิจารณาเข้ากับคดีอื่นอีกหลายคดีซึ่งโจทก์แต่ละคนฟ้องให้จำเลยรับผิดในเหตุเดียวกัน ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์แต่ละสำนวนนำสืบก่อน จึงเปลี่ยนหน้าที่นำสืบในคดีนี้ตามไปด้วย และต่อมาโจทก์ก็ถอนฟ้องจำเลยอื่น ๆ ทั้งหมด คงเหลือที่เป็นคดีพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เท่านั้น ฉะนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะให้โจทก์นำสืบก่อน แต่ภาระการพิสูจน์ตามกฎหมายก็ยังเป็นของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่า ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือเป็นเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายเอง ซึ่งข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ จำเลยที่ 1 ไม่มีพยานแม้แต่ปากเดียวที่จะนำสืบให้ศาลเห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นความผิดของผู้ต้องเสียหายเอง คงมีแต่พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ที่ฟังได้ว่า ก่อนที่นักบินของจำเลยที่ 1 จะนำเครื่องบินลงได้มีการติดต่อระหว่างผู้ควบคุมอากาศยานด้วยเรดาร์กับนักบินของจำเลยที่ 1 เมื่อนักบินแจ้งว่าเห็นทางวิ่ง 21 ซ้ายแล้ว เจ้าหน้าที่ควบคุมอากาศยานด้วยเรดาร์ก็โอนการติดต่อให้กับหอบังคับการบิน เมื่อหอบังคับการบินสั่งให้นักบินลงที่ทางวิ่ง 21 ซ้าย นักบินแจ้งว่าทราบแล้ว ซึ่งปรากฏการเจรจาอยู่ในเทปบันทึกเสียง แล้วต่อมาเครื่องบินของจำเลยที่ 1 ก็หายไปจากจอเรดาร์ และพุ่งเข้าชนโรงงานบริษัทอุตสาหกรรมทอผ้าไทย จำกัด ก่อนถึงสนามบินเพียงเล็กน้อย ทั้งปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุมีเครื่องบินของสายการบินอื่น ๆ มาลงที่ทางวิ่ง 21 ซ้ายหลายลำ โดยไม่เกิดอุบัติเหตุใด ๆ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในเรื่องนี้จึงฟังไม่ขึ้น
สำหรับประเด็นเรื่องความเสียหายของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์เป็นค่าสินไหมทดแทนเดือนละ 20,000 บาทเวลา 10 ปี เป็นเงิน 2,400,000 บาท และทั้งสองฝ่ายต่างฎีกาโต้แย้งกันโดยโจทก์ฎีกาว่า ควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเดือนละ 20,000 บาทเป็นเวลา 27 ปี แต่โจทก์เรียกร้องเพียง 4,300,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ควรมีสิทธิได้รับเพียงเดือนละ 3,546 บาท เท่าอัตราเฉลี่ยที่โจทก์เคยได้รับ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ที่ไม่ได้เถียงกัน ก็คือโจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอับราฮัม ซี.เมเยอร์ และโจทก์ไม่มีรายได้อย่างอื่น ซึ่งถ้าสามีโจทก์ไม่เสียชีวิต สามีโจทก์ก็ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามความสามารถและฐานะของตน ฉะนั้น เมื่อสามีโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์ย่อมขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย และชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยโดยไม่ต้องคำนึงว่า ในระหว่างอยู่กินด้วยกันสามีโจทก์ได้อุปการะโจทก์เพียงใดหรือไม่ ในการพิจารณาว่าโจทก์ควรจะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากสามีเท่าใดนั้น ก็จำต้องพิจารณาความสามารถและฐานะของทั้งสองฝ่ายประกอบกัน ข้อเท็จจริงในเรื่องรายได้ของสามีโจทก์ฟังได้ว่า ในขณะสามีโจทก์เสียชีวิต สามีโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทเกียวซอทจำกัด โดยไปทำงานที่ประเทศอียิปต์ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 1,160.98 เหรียญสหรัฐ ได้เบี้ยเลี้ยงอีกเดือนละ 130 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้มีค่าทำงานนอกสถานที่และค่าอาหารอีกวันละ 33 เหรียญสหรัฐ รวมเป็นเงิน 2,320.80 เหรียญสหรัฐ และมีค่าทำงานนอกเวลาอีกชั่วโมงละ 21 เหรียญสหรัฐ วันละ 3-4 ชั่วโมง รวมรายได้เฉลี่ยของสามีโจทก์ประมาณเดือนละ 2,800 เหรียญสหรัฐ หรือเป็นเงินไทยประมาณ 60,000 บาทรายได้ของสามีโจทก์นี้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม่ใช่รายได้ที่แน่นอนตายตัวเพราะเบี้ยเลี้ยงก็ดี ค่าทำงานนอกสถานที่ก็ดี ค่าอาหาร หรือค่าทำงานนอกเวลาก็ดี ล้วนแต่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของงานและสถานที่ที่ทำงาน เช่นถ้าสามีโจทก์ทำงานภายในสถานที่ในประเทศของตน ก็อาจมีรายได้น้อยกว่าที่โจทก์นำสืบมาก ฉะนั้น รายได้ตามปกติของสามีโจทก์ที่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูครอบครัวได้ จึงประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 45,000 บาท ต่อเดือน เมื่อคำนึงว่าสามีโจทก์มีบุตรซึ่งเกิดจากภรรยาเดิมที่จะต้องรับอุปการะเลี้ยงดู 1 คน และอาจมีบิดามารดาที่จะต้องอุปการะอยู่อีก โจทก์เองก็ไม่มีบุตรกับสามี ฉะนั้น จึงเห็นควรกำหนดค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 15,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ได้รับเดือนละ 20,000 บาท จึงเป็นการสูงเกินสมควร ฎีกาของจำเลยในเรื่องนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปที่ว่า โจทก์ควรจะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นเวลากี่ปีนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้สามีโจทก์จะเป็นคนมีสุขภาพดี มีโอกาสที่จะมีชีวิตยืนยาวเกินกว่า 65 ปีก็ตาม แต่ค่าสินไหมทดแทนนี้ ศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดให้โจทก์ได้รับเป็นรายเดือนตลอดไป แต่ให้ได้รับคราวเดียวโดยกำหนดให้เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งโจทก์อาจนำเงินจำนวนนี้ไปแสวงหาผลประโยชน์ที่มั่นคง เช่น ฝากธนาคาร ก็จะได้ดอกเบี้ยตลอดไปไม่น้อยกว่ารายได้แต่ละเดือนที่โจทก์ควรจะได้จากสามี ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียง 3 ปี เพราะโจทก์อายุเพียง 27 ปี สามารถทำงานประกอบอาชีพได้เองนั้น เห็นว่ายังไม่มีข้อเท็จจริงหรือเหตุผลใดที่จะเป็นไปได้เช่นนั้น ฎีกาของโจทก์และจำเลยในเรื่องนี้จึงฟังไม่ขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้พับไปทั้งสองฝ่าย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
ผู้พิพากษา :
วีระ ทรัพยไพศาล
พิศิษฏ์ เทศะบำรุง
สุชาติ จิวะชาติ
แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา