ประมาทเลินเล่อไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันต้องรับผิดเต็มจำนวนอย่างลูกหนี้ร่วม
ประมาทเลินเล่อไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันต้องรับผิดเต็มจำนวนอย่างลูกหนี้ร่วม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4712/2539
คำพิพากษาย่อสั้น
เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และผู้ตายซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันถึงแม้จำเลยที่ 1 และผู้ตายจะต่างคนต่างประมาทเลินเล่อก็ตามแต่เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และผู้ตายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์เต็มตามจำนวนค่าเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดจะแซงรถยนต์ตู้ของโจทก์ ขณะเดียวกันนายสมบูรณ์ หอมกรุ่น ผู้ตายขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล่นสวนทางมาด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน และไม่ชะลอความเร็วหรือหยุดรถชิดขอบทางด้านซ้ายเมื่อเห็นจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ดังกล่าวแซงสวนทางมาเป็นเหตุให้รถเฉี่ยวชนกันและรถยนต์ตู้ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 386,400.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 359,100.00 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะตามฟ้อง เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายสมบูรณ์ผู้ตาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความจริง หากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดก็ควรแยกความรับผิดออกจากความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า นายสมบูรณ์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 คดีโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากยื่นฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,000.00 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และโจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 359,100.00 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันทำละเมิด (29 พฤษภาคม 2530) จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพียงร้อยละ 30 ของจำนวนค่าเสียหายและดอกเบี้ยดังกล่าว ส่วนอีกร้อยละ 70 ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติฟังได้ตามที่คู่ความรับและไม่โต้เถียงกันอีกทั้งไม่อุทธรณ์ ฎีกาต่อมาว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ม-0201 กาฬสินธุ์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น-9315 ประจวบคิรีขันธ์ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-0420 ระนอง และเป็นนายจ้างของนายสมบูรณ์ หอมกรุ่น ผู้ตาย จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการค้าไม้แปรรูป เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2530 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา ขณะที่รถวิทยุของตำรวจทางหลวงกำลังแล่นนำขบวนรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ม-0201 กาฬสินธุ์ และรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน ม-0282 ร้อยเอ็ด ไปตามถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าไปทางจังหวัดชุมพร ถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 446-448 ทันใดนั้นผู้ตายซึ่งขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 80-0420 ระนองในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ลากจูงสาลี่พ่วงบรรทุกไม้แปรรูปแล่นสวนทางมา และจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น-9315 ประจวบคิรีขันธ์ บรรทุกผลปาล์มแล่นตามรถขบวน ได้แซงรถยนต์โดยสารในขบวนขึ้นไป โดยทั้งผู้ตายและจำเลยที่ 1 ต่างก็ขับด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันพุ่งเข้าชนทางด้านหน้าและทางด้านท้ายของรถยนต์ตู้คันดังกล่าว ทำให้ผู้ตายและบุคคลอื่นซึ่งเดินทางมากับรถยนต์ตู้ถึงแก่ความตายรวมทั้งหมด 13 คน รถยนต์ตู้ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 359,100.00 บาท จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของผู้ตายต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์เต็มตามจำนวนค่าเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม หรือรับผิดเป็นอัตราร้อยละ 30 ของค่าเสียหาย ปัญหานี้เมื่อพิจารณาลักษณะความประมาทเลินเล่อของผู้ตายและจำเลยที่ 1 แล้วจะเห็นได้ว่า ก่อนที่รถซึ่งผู้ตายและจำเลยที่ 1 ขับจะพุ่งเข้าชนทางด้านหน้าและทางด้านท้ายของรถยนต์ตู้ ผู้ตายและจำเลยที่ 1 ต่างก็ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งผู้ตายยังขับส่ายไปมาจนรถเสียหลักแล่นล้ำเข้ามาในช่องเดินรถของรถยนต์ตู้ และจำเลยที่ 1 ขับแซงรถยนต์โดยสารซึ่งเป็นรถในขบวนที่รถวิทยุของตำรวจทางหลวงกำลังแล่นนำอยู่โดยไม่ได้ดูว่าทางข้างหน้าปลอดภัยหรือไม่แล้วขับหลบไปทางด้านซ้ายระหว่างรถยนต์โดยสารกับรถยนต์ตู้อย่างกระทันหัน เป็นเหตุให้รถคันที่ผู้ตายและจำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้าชนทางด้านหน้าและทางด้านท้ายของรถยนต์ตู้อย่างแรง ทำให้รถยนต์ตู้ได้รับความเสียหายพังยับเยิน ด้านหัวและด้านท้ายยุบเข้าหากัน ไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับดีดังเดิมได้ ดังนี้กรณีจึงถือได้ว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ตายและจำเลยที่ 1 ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ถึงแม้ผู้ตายและจำเลยที่ 1 จะต่างคนต่างประมาทเลินเล่อก็ตาม แต่เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของผู้ตายและจำเลยที่ 1 ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์เต็มตามจำนวนค่าเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม หาใช่รับผิดเป็นอัตราร้อยละ 30 ของค่าเสียหายไม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 359,100.00 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันทำละเมิดคือวันที่ 29 พฤษภาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 301
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
ผู้พิพากษา
ปรีชา นาคพันธุ์
อำนวย สุขพรหม
ระพินทร บรรจงศิลปะ
แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ