แชร์

ราคารถรวมภาษีด้วยหรือไม่

อัพเดทล่าสุด: 29 พ.ค. 2024
256 ผู้เข้าชม
ราคารถรวมภาษีด้วยหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2956/2538

คำพิพากษาย่อสั้น
กองทัพบกโจทก์เป็นนิติบุคคล มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้แทนมีอำนาจบังคับบัญชาและรับผิดชอบจึงเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 75 หรือที่แก้ไขใหม่มาตรา 70 การที่กองบัญชาการควบคุมกองพลทหารราบที่ 4 ส่วนราชการของโจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทราบข้อเท็จจริงและมีการรายงานเหตุการเสียชีวิตของนายทหารชั้นสัญญาบัตรให้โจทก์ทราบตลอดจนมีการทำบันทึกเรื่องค่าเสียหายจะถือว่าโจทก์ทราบไม่ได้ กรณีต้องถือว่าโจทก์เพิ่งทราบเหตุและตัวผู้ต้องรับผิด เมื่อผู้บัญชาการทหารบกได้ทราบรายงานและลงนามอนุมัติให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2531 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2532 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ การที่โจทก์ซื้อรถมาโดยได้รับยกเว้นภาษีอากรนั้นราคาที่โจทก์ซื้อย่อมมิใช่ราคาที่แท้จริงในท้องตลาดเพราะราคาในท้องตลาดต้องเป็นราคาที่รวมค่าภาษีอากรเข้าด้วยแล้ว ดังนี้ราคารถที่จะให้ชดใช้ต้องถือตามราคาปกติในท้องตลาดอันเป็นมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน

คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์จิ๊ปซูซูกิราคา 660,000.00 บาท เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2531 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยความเร็วสูง และอยู่ในอาการเมาสุรา เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุมีรถยนต์บรรทุกคันหนึ่งขับอยู่ข้างหน้าและขณะเดียวกันได้มีรถโจทก์ซึ่งมี พันโทสมโภช ขับไปใช้ในราชการของโจทก์แล่นมาตามถนนดังกล่าวสวนทางกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับอยู่ ซึ่งในภาวะเช่นนั้นจำเลยที่ 1 จะต้องใช้ความระมัดระวังโดยชะลอความเร็วของรถลง แต่จำเลยที่ 1 ยังคงขับรถด้วยความเร็วสูง รถที่จำเลยที่ 1 ขับจึงพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์บรรทุกดังกล่าว แล้วพุ่งชนรถของโจทก์อย่างแรงที่ด้านหน้าข้างขวาทำให้รถของโจทก์พังยับเยินไม่สามารถซ่อมได้ คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 660,000.00 บาท และยังเป็นเหตุให้ พันโทสมโภช ถึงแก่ความตายและร้อยโทสมชายซึ่งนั่งไปด้วยได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับไปทำละเมิดดังกล่าวต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 660,000.00 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์เพิ่งทราบเหตุละเมิดและทราบตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2531 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 660,000.00 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความละเมิดเพราะมูลคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2531 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2532 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 นำรถของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกไปขับโดยพลการมิได้กระทำไปในทางการที่จ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด รถของโจทก์มีสภาพเก่าใช้งานมานานแล้วมีราคาไม่เกิน 50,000.00 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 125,000.00 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (30 สิงหาคม 2532) จนกว่าชำระเสร็จ
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์


ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน


โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าฟ้องขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลโดยมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้แทน มีอำนาจบังคับบัญชาและรับผิดชอบ ดังนี้ผู้บัญชาการทหารบกจึงมีฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคลและเป็นผู้แสดงเจตนาอันเป็นความประสงค์ของนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 75 หรือที่แก้ไขใหม่ มาตรา 70 การรับทราบเหตุและตัวผู้ต้องรับผิดจะต้องให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้รับทราบและสั่งการ การที่กองบัญชาการควบคุม กองพลทหารราบที่ 4 อันเป็นส่วนราชการของโจทก์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทราบข้อเท็จจริงแล้วรายงานตามลำดับชั้นจนถึงพลเอกพิจิตรในฐานะผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ทำการแทนผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งได้ลงนามอนุมัติตามที่เสนอให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามตามบันทึกคำสั่งอนุมัติเอกสารหมาย จ.8 โดยลงนามอนุมัติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2531 กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์เพิ่งทราบเหตุและตัวผู้ต้องรับผิดในวันที่ 28 ธันวาคม 2531 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2532 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ฟ้องจึงยังไม่ขาดอายุความ การรายงานเหตุการเสียชีวิตของนายทหารชั้นสัญญาบัตรให้โจทก์ทราบภายใน 24 ชั่วโมง และต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2531 ได้มีการทำบันทึกเรื่องค่าเสียหายมิใช่เป็นการรับทราบเหตุโดยผู้แทนผู้มีอำนาจทำการแทนของโจทก์ ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ทราบเหตุและตัวผู้รับผิดตามข้อฎีกาของจำเลย
ปัญหาต่อไปเกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหาย ได้ความว่า โจทก์ซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุมาใช้ในราชการโดยไม่ต้องเสียภาษีอากรในราคา 138,800.00 บาท โจทก์ฎีกาขอให้กำหนดราคารถเป็นเงิน 660,000.00 บาทศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ซื้อรถมาโดยได้รับยกเว้นภาษีอากรนั้น ราคาที่โจทก์ซื้อย่อมมิใช่ราคาที่แท้จริงในท้องตลาด เพราะราคาในท้องตลาดนั้นจะต้องเป็นราคาที่รวมค่าภาษีอากรเข้าด้วยแล้ว ดังนี้ราคารถที่จะใช้ชดใช้ต้องถือตามราคาปกติในท้องตลาด อันเป็นมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน การถือเอาจำนวนเงินที่โจทก์ชำระไปในการได้รถมาเพื่อคำนวณราคารถจะทำให้มูลค่าของทรัพย์สินผิดไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 250,000.00 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดตั้งแต่วันฟ้อง (30 สิงหาคม 2532) จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 เดิม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448

ผู้พิพากษา
อรุณ น้าประเสริฐ
จเร อำนวยวัฒนา
อุดม มั่งมีดี

แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ