ค่าใช้จ่ายในการควบคุมการซ่อมรถไฟ ถือเป็นต้นทุนในการซ่อม ต้องรับผิด
ค่าใช้จ่ายในการควบคุมการซ่อมรถไฟ ถือเป็นต้นทุนในการซ่อม ต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2506/2533
คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ แม้ค่าใช้จ่ายและค่าควบคุมการซ่อมจะเป็นค่าใช้จ่ายประจำที่โจทก์จะต้องใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่เมื่อเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งที่โจทก์ต้องเสียไปในการซ่อมความเสียหายที่ได้รับ ซึ่งสามารถคิดคำนวณเฉลี่ยออกมาได้ จึงถือได้ว่าเป็นต้นทุนในการซ่อมที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนเงินค่าแรงที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่พนักงานของโจทก์ในการซ่อมแซมความเสียหายเกี่ยวกับรถไฟ เสาโทรเลข สายควบคุมพร้อมอุปกรณ์ และอื่น ๆ อันเกิดจากการทำละเมิดนั้น แม้พนักงานของโจทก์จะได้รับเงินเดือนจากโจทก์เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น โจทก์ก็ย่อมไม่ต้องใช้พนักงานของโจทก์ไปทำงานนั้น หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องจ้างเหมาให้บุคคลอื่นทำการซ่อมแซมแทน จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินค่าแรงดังกล่าวให้โจทก์เช่นเดียวกัน
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้จดทะเบียนประกอบการขนส่ง จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-3273 ฉะเชิงเทรา โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ใช้รถยนต์ดังกล่าวประกอบธุรกิจอันมีผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างทำหน้าที่ขับรถ จำเลยที่ 5 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัย เมื่อวันที่10 กันยายน 2526 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไปตามถนนภายในย่านสถานีรถไฟฉะเชิงเทรามุ่งหน้าไปออกถนนมหาจักรพรรดิ์ด้วยความประมาท ไม่หยุดรถเพื่อให้ขบวนรถไฟที่กำลังแล่นมาผ่านไปก่อนตามป้ายสัญญาณ กลับขับรถยนต์ข้ามทางรถไฟอย่างกะทันหันตัดหน้ารถไฟขบวนที่ 203 เป็นเหตุให้รถไฟชนรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ โจทก์ได้รับค่าเสียหายทั้งสิ้น 138,565.41 บาท ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 148,958 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 138,565.41 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างและไม่ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุในทางการที่จ้างจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิด และจำเลยที่ 5 ผู้รับประกันก็ไม่ต้องรับผิดด้วย เหตุรถไฟชนรถยนต์เกิดขึ้นเพราะความประมาทของคนขับรถไฟ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป และบางส่วนไม่ได้เกิดขึ้นจริง ค่าเสียหายที่แท้จริงของโจทก์เป็นเงินเพียง 69,282.70 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิด ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 138,565.41 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 93,329.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-3273 ฉะเชิงเทราซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 5 ขณะเกิดเหตุยังอยู่ในอายุสัญญาประกันภัย เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2526 เวลา 9 นาฬิกาเศษนายสมพงษ์ คงสุวรรณ ขับรถไฟขบวนที่ 203 จากสถานีรถไฟฉะเชิงเทราจะไปสถานีกบินทร์บุรี มาถึงถนนตัดทางรถไฟที่เกิดเหตุได้ชนรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-3273 ฉะเชิงเทรา ซึ่งจำเลยที่ 1 ขับไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำให้รถไฟคันเกิดเหตุของโจทก์ได้รับความเสียหาย ปัญหาเรื่องค่าเสียหายโจทก์มีนายปัญญา วงศ์ไทย สารวัตรบำรุงรักษารถดีเซลราง มีหน้าที่ควบคุมซ่อมบำรุงรักษารถที่ชำรุด เป็นพยานเบิกความว่า รถดีเซลรางหมายเลข บพซ.18 ถูกรถยนต์ชนเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2526 ได้รับความเสียหายมากไม่สามารถที่จะขับมาได้ ถูกตัดจอดไว้ที่สถานีรถไฟฉะเชิงเทรา พยานจึงต้องจัดส่งช่างไป พยานได้ทำบันทึกความเสียหายของรถไฟดังกล่าวไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 สำหรับช่างที่ส่งไป 3 คนคิดเป็นค่าแรงของช่างทั้งสามคนเป็นเงิน 2,639.77 บาท และพยานปากนี้ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ถามค้านว่า ค่าแรง 2,639.77 บาท เป็นเงินที่จ่ายให้แก่ช่างจริง ถือว่าเป็นค่าทำงานนอกเวลา แต่การที่ออกไปทำงานนั้นไปทำทั้งเวลาราชการและเกินกว่าเวลาราชการด้วยค่าแรง 2,639.77 บาท เป็นค่าแรงซึ่งคิดนอกเวลาราชการ นายเฉลียว สุขเวช สารวัตรโรงซ่อมส่วนบนรถจักรดีเซลไฮดรอลิกและดีเซลรางมีหน้าที่ควบคุมการซ่อมและคิดค่าใช้จ่ายในการซ่อม เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อพยานได้รับรถ บพซ.18 คันที่ถูกชนมาแล้ว ก็ได้ดำเนินการจัดการซ่อมด้วยการรื้อตัวรถและห้ามล้อออกทำการซ่อม แล้วประกอบเข้าไปใหม่ คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมเป็นเงิน 57,000 บาทเศษ พยานทำบัญชีแสดงรายละเอียดไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12 และนายไพฑูรย์ศรีวรวิทย์ หัวหน้าแผนกบัญชีของโจทก์เบิกความว่า พยานเป็นผู้คิดค่าเสียหายในการนำรถไฟคันเกิดเหตุไปซ่อมที่โรงงานเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 100,000 บาทเศษ รายละเอียดพยานทำเป็นหลักฐานไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 สำหรับค่าซ่อมแซมเสาโทรเลข สายควบคุมพร้อมอุปกรณ์นั้น นายประสิทธิ์ คุ้มลำไภย พนักงานโจทก์มีหน้าที่ซ่อมแซมอุปกรณ์การสื่อสารเบิกความว่า ต้องซ่อมแซมเป็นเงินทั้งสิ้น 23,736.20 บาท พยานได้ทำรายละเอียดแสดงความเสียหายรวมทั้งราคาในการซ่อมไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 และนายบุญส่ง มีสมสาร สารวัตรบำรุงทางฉะเชิงเทราของโจทก์เบิกความว่า โจทก์ต้องซ่อมไม้หมอน กุญแจยึดลิ้นประแจ เครื่องดันกลับประแจ รวมทั้งค่าแรงเป็นเงิน 11,304.70 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นำสืบต่อสู้เรื่องค่าเสียหายโดยมีนายศึกษา สุวัฒนมาลา พนักงานประเมินราคาของจำเลยที่ 5 เบิกความลอย ๆ ว่า วัสดุอุปกรณ์บางชิ้นสามารถซ่อมได้ไม่ควรต้องเปลี่ยน แต่ปรากฏว่านายศึกษาไม่เคยเห็นสภาพความเสียหายแท้จริงของรถไฟคันเกิดเหตุ เพียงแต่พิจารณาจากภาพถ่ายเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เห็นว่า พยานโจทก์มีพยานบุคคลและพยานเอกสารประกอบกันมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย ฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจริงตามที่นำสืบ คือค่าแรงช่าง 3 คน ที่ไปตรวจดูความเสียหายเป็นเงิน2,639.77 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2 ค่าซ่อมแซม เป็นเงินค่าของ 36,139.50 บาท ค่าแรง 21,687.73 บาท ตามเอกสารหมาย จ.12 เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั่วไปและค่าควบคุมแล้วเป็นเงินค่าซ่อมรถไฟของโจทก์ทั้งสิ้น 100,884.74 บาท รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2(ด้านหลัง) ค่าซ่อมเสาโทรเลข สายควบคุมพร้อมอุปกรณ์เป็นเงิน 23,736.20 บาท รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 และค่าซ่อมไม้หมอน กุญแจยึดลิ้นประแจ เครื่องดันกลับประแจ รวมทั้งค่าแรงเป็นเงิน 11,304.70 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 (แผ่นที่ 2) รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 138,565.41 บาท ที่จำเลยต่อสู้ว่าค่าใช้จ่ายและค่าควบคุมเป็นค่าใช้จ่ายประจำที่โจทก์จะต้องใช้จ่ายอยู่แล้วจึงไม่น่ามีสิทธิเรียกร้องเอากับจำเลยได้นั้น เห็นว่าโจทก์มีนายมานิตย์ ณ พัทลุง หัวหน้าแผนกบัญชีลงทุนงานก่อสร้างทางรถไฟฯและนายไพฑูรย์ ศรีวรวิทย์ หัวหน้าแผนกบัญชี มาเป็นพยานสนับสนุนฟังได้ชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายประจำและค่าควบคุมเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งที่โจทก์ต้องเสียไปในการซ่อมแซมความเสียหายที่ได้รับซึ่งสามารถคิดคำนวณเฉลี่ยออกมาได้ จึงถือได้ว่าเป็นต้นทุนในการซ่อมที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับค่าแรงที่จำเลยต่อสู้ว่าพนักงานที่นำไปซ่อมรถไฟคันเกิดเหตุได้รับเงินเดือนประจำของโจทก์อยู่แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าแรงจากจำเลยได้นั้น เห็นว่าแม้พนักงานของโจทก์จะได้รับเงินเดือนจากโจทก์เป็นประจำอยู่แล้วก็ดีแต่เมื่อโจทก์ต้องใช้พนักงานของโจทก์ไปซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายอันเกิดจากการละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าแรงของพนักงานโจทก์จากจำเลยได้ เพราะถ้าไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น โจทก์ก็ย่อมไม่ต้องใช้พนักงานของโจทก์ไปทำงานนั้น หรือหากจะใช้ก็คงนำไปใช้ประโยชน์ทางอื่น หรือหากโจทก์ไม่ใช้พนักงานของโจทก์เอง แต่ได้จ้างเหมาให้บุคคลอื่นทำการซ่อมแซมแทน จำเลยก็คงต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์เช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์ให้ตัดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งห้าจะต้องชดใช้แก่โจทก์ออกเสียจำนวน 45,235.47 บาทนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
ผู้พิพากษา
สหัส สิงหวิริยะ
มงคล เปาอินทร์
ถาวร ตันตราภรณ์
แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา